วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พาเที่ยวนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ (เส้นทางที่ 2) Past 1

หลังจากที่เราได้ชื่นชมและสัมผัสบรรยากาศของชาววังและชาวกรุงในสมัยก่อนกันแล้วนะคะ คราวนี้เราจะพามาชมเส้นทางที่ 2 ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่จะเล่าถึงเรื่องราวของความเป็นอารยะในแผ่นดินสยาม และได้ร่วมภูมิใจในพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกรัชกาล ไม่รอช้าเรามาเริ่มชมเส้นทางที่ 2 กันเลยค่ะ



โดยเส้นทางที่ 2 นี้จะแบ่งการเข้าชมออกเป็น 2 ห้อง มาเริ่มกันที่ห้องแรกก่อนนะคะ ห้องนี้มีชื่อว่า "ห้องรุ่งเรืองวิถีไทย" ห้องนี้จะเป็นการย้อนยุคจำลองวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนที่อาศัยอยู่บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันกันทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่การคลอดลูกหรือการเกิดจนกระทั่งตายและต้องเผาศพเลยล่ะ


พี่เจ้าหน้าที่จะให้เราเดินชมในห้องนี้กันสักพัก แล้วค่อยไปนั่งเรือชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งคลองกัน โดยจะมีสองตายายเล่าเรื่องชีวิตริมน้ำ พร้อมกับเตือนหลานๆว่า ให้นั่งเรือดีๆ อย่างตุกติกไม่งั้นอาจจะตกเรือนะจ๊ะ 



เมื่อความเจริญได้ย่างก้าวเข้าสู่รัตนโกสินทร์ วิถีชีวิตของการสัญจรก็เปลี่ยนไป จากการสัญจรกันทางน้ำสู่การสัญจรทางบก คือชอบการนำเสนอแบบนี้มากๆเลยนะคะ ถ้าใครได้ไปแล้วก็รู้สึกได้ว่า จากที่เรานั่งเรือโคลงเคลงอยู่บนน้ำ พอเปลี่ยนฉากก็เพิ่มการสั่นทะเสือนแบบครื่องยนต์ ถูกค่ะ หมายถึงการเดินทางโดยรถรางในสมัยก่อน พอมาถึงจุดนี้ก็จะมีสองสาวเล่าเรื่อง (เล่าเรื่องจริงๆนะคะ) เล่าถึงถนนเจริญกรุงในสมัยแรกสร้างเสร็จใหม่ พอไปแล้วก็จะเห็นการสนทนาของผู้สาวไกลหอกลองผู้นี้ที่อยากรู้อยากเห็นไปซะทุกอย่างในเจริญกรุง




บนถนนเจริญกรุงแห่งนี้ จะประกอบไปด้วยเสาไฟฟ้าเพื่อให้ความสว่างบนท้องถนน การส่งสารโดยผ่านสายตะแล็ปแก็ป หรือ โทรเลข มีน้ำประชาให้ใช้กินใช้ดื่ม เมื่อสองสาวเล่าเรื่องเสร็จ ก็จะมีนายสถานีสั่นระฆังเหมือนสถานีรถไฟให้เราทราบว่า ถึงที่หมายปลายทางแล้ว เมื่อลงจากรถราง เราก็จะมีร้านค้าในสมัยก่อนให้เลือกซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยาหรือร้านขายของฝรั่ง เป็นต้น รวมถึงธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย คือ แบงค์สยามกัมมาจล อีกด้วย



ที่ร้านสยามอารยะแห่งนี้ จะกล่าวถึงความเป็นสมัยใหม่ของรัตนโกสินทร์ในช่วงของรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มมีสิ่งใหม่เข้ามา อาทิ รถราง ถนนหนทาง อาคารและสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เป็นต้น









และก็มาถึงยุคของการเปลี่ยนแปลงจาก การส่งสาส์นเป็นการสื่อสาร ที่เริ่มมีการส่งจดหมายกันในสมัยรัชกาลที่ 5 และก็มีการริเริ่มระบบไปรษณีย์ไทย เพื่อให้การสื่อสารของไทยในสมัยนั้นติดต่อกันง่ายขึ้นและรวดเร็ว แต่สมัยนี้ก้าวกระโดดไปไกลกว่าการส่งจดหมายแล้วล่ะค่ะ (ด้วยระบบ 3G ที่เริ่มเข้ามาในยุคนี้) 





ถัดมาเราก็จะเข้าสู่ยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นได้ใช้ไทยเป็นทางผ่านของสงคราม โดยเราจะเข้าไปที่หลุมหลบภัยสาธารณะ จำลองบรรยากาศของสงคราม มีเสียงของการทิ้งระเบิด เอฟเฟ็กค์ดีมากๆขอบอก ภายในนั้นจะมีการเล่าถึงยุครัฐนิยมในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในสยามให้ไปสู่ความเป็นอารยะ โดยเริ่มจากการเลิกเคี้ยวหมาก เลิกนุ่งโจงกระเบน ผู้ชายให้สวมกางเกง ส่วนผู้หญิงให้สวมกระโปรง ที่สำคัญต้องสวมหมวกทุกครั้งตอนออกนอกบ้าน ถือได้ว่าในยุคนั้นเป็นยุคมาลานำไทยเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการเริ่มให้คำว่า สวัสดีในการทักทายกัน หรือการบัญญัติคำใหม่ขึ้น เช่นคำว่า ฉัน เธอ จ้ะ จ๊ะ เป็นต้น



เดินมุดผ่านหลุมหลบภัยที่สะท้อนว่าเราได้เดินทางมาสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  ยุคที่มีคำขวัญว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย"   ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เป็นยุคสมัยที่รัฐพยายามสร้างภาพของอารยประเทศให้เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ "รัฐนิยม"  อย่างเช่น ห้ามกินหมากพลู ให้สวมหมวกเมื่อออกจากบ้าน  ส่งเสริมให้แต่งกายแบบชาวตะวันตก  ไปจนถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" สู่ "ประเทศไทย" ก็เกิดขึ้นในยุคนี้
รวมทั้งเพลงชาติแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็เพิ่งเริ่มใช้กันในสมัยนี้  ส่วนก่อนหน้าเพลงชาติเป็นยังไงลองมาฟังกันได้ตรงนี้


คงกลัวว่าจะหนักหัวกับเรื่องการบ้านการเมือง  ก็เลยพาเราเข้าสู่ยุค Sixty-Seventy ด้วยจังหวะเพลงเต้นรำหลากหลาย  จังหวะสนุก ๆ อย่างนี้ เจ้าหน้าที่เขาก็เลยชวนให้เราได้ลองวาดลวดลายกลางฟลอร์เต้นรำเล็ก ๆ ตรงนี้กันด้วย
เมื่อหลุดพ้นจากหลุมหลบภัย ก็จะพบกับร้านค้าในสมัยก่อนที่ยอดนิยมเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผม ร้านขายผ้า ร้านขายหนังสือ หรือร้านเล็กๆให้เราได้นั่งจิบชากันค่ะ พูดแล้วก็ไม่เห็นภาพ มาชมภาพกันดีกว่าค่ะ 























โรงหนังเฉลิมไทยเอย เฉลิมกรุงเอย ก็มีมาแล้ว  ที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ขอเป็น โรงหนังเฉลิมรัตน์ ก็แล้วกัน หนังที่ฉายชื่อ "กรุงเทพฯ แห่งอนาคต" ดูไปดูมาที่ว่าอนาคต ก็คืออนาคตของยุคก่อนหน้าที่เราเพิ่งเดินชมผ่านมา  แต่เป็นปัจจุบันที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่กันนี่ล่ะ สังเกตดูว่าจอหนังไม่ใช่จอเรียบ ๆ หากแต่เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมที่น่าจะสะท้อนถึงความหลากหลายที่ดูจะสับสนวุ่นวายของยุคสมัยแห่งปัจจุบันได้ดี

ดูหนังจบแล้ว  เราก็จะได้เข้ามานั่งในรถไฟฟ้าบีทีเอสจำลอง รถไฟที่ประหนึ่งพาเราวิ่งข้ามกาลเวลาจากอดีตสู่ยุคปัจจุบัน ผ่านทิวทัศน์สองข้างทางที่บอกให้เราตระหนักว่าบ้านเมืองที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ แล้วเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ หากแต่ผ่านการสืบสาน ทุ่มเทและเสียสละของผู้คนมากมายนับเนื่องมาตลอดหลายต่อหลายชั่วอายุคน   ที่ดูจะเป็นการสรุปปิดท้ายห้องจัดแสดงชุดนี้ได้อย่างสมบูรณ์



การชมนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ในเส้นทางที่ 2 นี้ ยังไม่จบนะคะ โปรดติดตามต่อในบทความต่อไป จะพูดถึงอีก 1 ห้องที่พลาดไม่ได้คือ "ห้องดวงใจปวงประชา" ขอยกยอดไว้ในบทความหน้านะคะ บทความนี้ แค่ห้องเดียวก็หลากหลายแล้ว อยากไปกันใช่มั้ยล่ะค่ะ ^^





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น